มาลาเรีย : อ็อกซ์ฟอร์ดทดลองวัคซีนสำเร็จ
มาลาเรีย : อ็อกซ์ฟอร์ดทดลองวัคซีนสำเร็จ เป็นครั้งแรกที่ประสิทธิภาพถึงเกณฑ์องค์การอนามัยโลก
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร ประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียในขั้นต้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่วัคซีนใช้ได้ผลโดยมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ 77% ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งระบุไว้ที่ 75%
ก่อนหน้านี้เคยมีคณะวิจัยหลายทีมพยายามคิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียมาแล้ว แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้ล้วนต่ำกว่า 55% ทำให้ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีต่อการพัฒนาวัคซีนตัวสำคัญ ที่จะมาช่วยหยุดยั้งการระบาดของไข้มาลาเรียที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 4 แสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กในทวีปแอฟริกา
มีการรายงานผลทดลองข้างต้นในบทความที่ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบทความนี้เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Lancet ฉบับล่าสุด โดยทีมวิจัยระบุว่าการทดลองให้วัคซีนกับเด็ก 450 คนในประเทศบูร์กินาฟาโซ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2019 นั้น ผลปรากฏว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ต้านทานไข้มาลาเรียได้ยาวนาน ตลอดระยะเวลา 12 เดือนที่ทีมวิจัยเฝ้าติดตามผล
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ทีมวิจัยเตรียมเดินหน้าทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการทดลองขั้นต่อไปในเร็ว ๆ นี้ โดยจะทดลองให้วัคซีนกับประชากรเด็กแอฟริกันในวงกว้าง คิดเป็นจำนวนราว 5,000 คน ใน 4 ประเทศ โดยกลุ่มทดลองจะมีอายุตั้งแต่ 5 เดือน ไปจนถึง 3 ขวบ
ดร. เอเดรียน ฮิลล์ ผู้นำทีมวิจัยวัคซีนไข้มาลาเรียของอ็อกซ์ฟอร์ดบอกว่า กระบวนการพัฒนาวัคซีนไข้มาลาเรียนั้นใช้เวลานานและพบกับความล้มเหลวบ่อยครั้ง เนื่องจากมียีนก่อโรคหลายพันตัวในเชื้อปรสิตที่เป็นสาเหตุของไข้มาลาเรีย ในขณะที่ยีนดังกล่าวของเชื้อไวรัสโคโรนามีเพียงสิบกว่าตัวเท่านั้น วัคซีนไข้มาลาเรียจึงพัฒนาได้ยากกว่า เพราะต้องสร้างปฏิกิริยาต้านทานในระดับสูงมากจึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้
"นั่นทำให้วัคซีนตัวนี้มีศักยภาพใหญ่หลวง ในการสร้างผลกระทบที่สำคัญยิ่งต่อวงการสาธารณสุข" ดร. ฮิลล์กล่าว
หากวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียของอ็อกซ์ฟอร์ดผ่านการทดสอบทุกขั้นตอนโดยสมบูรณ์แล้ว สถาบันเซรัมแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก พร้อมที่จะผลิตวัคซีนนี้ได้ทันทีจำนวนกว่า 200 ล้านโดส โดยมีบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพโนวาแว็กซ์ (Novavax) เป็นผู้ผลิตสารเสริมประสิทธิภาพ (adjuvant) ให้กับวัคซีนดังกล่าว
ที่มา
ทั้งหมด 5 ความคิดเห็น
กละวประวิทย์ 29 ก.พ. 2567 10:46
ขอบคุณค่ะDuangratsamee 21 ก.พ. 2567 15:04
ขอบคุณที่หาเนื้อหาที่มีประโยชน์ค่ะลฎาภา 23 ก.ย. 2565 12:03
มนุษย์โลกพยายามจะเอาชีวิตรอด เชื้อโรคก็พัฒนาไปเรื่อยๆ วัคซีนหลายชนิดระดมฉีดเพื่อป้องกันโรคภัยต่างๆ เราต้องชนะนิรชา 8 มิ.ย. 2564 21:28
สุดยอดจริงๆ แต่ช่วงนี้คิดว่า impact ไม่มากเท่ากับวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19กรรณิการ์ 21 พ.ค. 2564 11:26